คำแนะนำในการเลือกรูปแบบของการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ


การเลือกรูปแบบองค์กรธุรกิจแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอยู่หลายประการ ผู้ประกอบการจึงควรจะพิจารณาให้รอบคอบ จึงขอแนะนำเทคนิคที่จะใช้ในการเลือกรูปแบบองค์กรธุรกิจดังนี้

1. พิจารณาดูว่ามีการจัดตั้งและผลการจัดตั้งธุรกิจนั้นยุ่งยากลำบากเพียงใดเช่น หากท่านจะประกอบธุรกิจง่ายๆ เล็กๆ ก็อาจจะไม่ต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแต่จัดตั้งเป็นธุรกิจเจ้าของคนเดียว หรือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญง่ายๆ ก็ได้
2. พิจารณาดูถึงต้นทุนที่จะต้องระดมมาในการประกอบการ ถ้าหากว่าท่านเห็นว่าการจะประกอบการต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากก็อาจจะต้องเลือกรูปแบบการจัดตั้งในรูปแบบของบริษัท จำกัด
3. พิจารณาถึงความรู้ความสามารถของประสบการณ์ของตนเองในฐานะของผู้ลงทุน และหากท่านจะต้องระดมผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาประกอบกิจการ ท่านก็อาจจะต้องจัดตั้งในรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ บริษัทจำกัดมากกว่าจะประกอบธุรกิจในรูปแบบของผู้ประกอบการคนเดียว
4. พิจารณาในแง่การบริหารและการควบคุมกิจการ ว่า เมื่อจัดตั้งองค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ กิจการคนเดียวนั้น จะสามารถบริหารงานและควบคุมกิจการได้หรือไม่ นอกจากนั้นอาจจะพิจารณาดูว่า การจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการควบคุมและรวบรวมทรัพย์สินของครอบครัวไว้เป็นหน่วยเดียวกันหรือไม่
5. พิจารณาถึงสถาพของธุรกิจโดยทั่วไปว่ากิจการที่จะลงทุนนั้น ควรจะเป็นรูปแบบองค์กร ธุรกิจแบบใด จะมีระยะเวลาประกอบธุรกิจนานเท่าไร จะสร้างความเชื่อถือให้กับองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และจะสามารถขยายกิจการออกไปได้หรือไม่
6. พิจารณาถึงความรับผิดชอบในบรรดาหนี้สินอันเกิดจากการประกอบการ ข้อนี้นับว่าเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่งของผู้ประกอบการการประกอบธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วนมักเป็นที่นิยมมาก โดยผู้ประกอบการอาจไม่ทราบว่า หุ้นส่วนผู้จัดการหรือ หุ้นส่วนสามัญนั้น จะต้องมีความรับผิดอย่างไม่จำกัด หรือแม้มีการประกอบกิจการคนเดียว หากมีหนี้สิ้นก็ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัด ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก แต่ในทางตรงข้ามการเลือก ประกอบธุรกิจโดยเป็นบริษัทจำกัด ความรับผิดชอบนั้นจำกัดเฉพาะหุ้นที่ลงทุนไปแล้วเท่านั้น
7. พิจารณาว่าระยะเวลาและความต่อเนื่องในการประกอบกิจการนั้นตรงตามจุดประสงค์ของกิจการเป็น ชั่วครั้งชั่วคราว หรือตลอดไป เพราะเหตุว่าถ้าหากต้องการประกอบกิจการเพียงช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะ ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล เพราะว่าการเลิกกิจการนั้นยากกว่าการจดทะเบียนเสียอีก
8. พิจารณาเกี่ยวกับวิธีการแบ่งปันผลกำไรจากการประกอบการโดยจะต้องพิจารณาว่าท่านมีความประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรอย่างไร เพราะหากว่ามีการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดการจะแบ่งปันผลกำไรนั้น คงมีข้อจำกัดทางกฎหมาย และจะต้องมีการตั้งทุนสำรองไว้ตามกฎหมายอีก
9. พิจารณาว่าในอนาคตนั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือขยายรูปแบบองค์การธุรกิจเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มเติมหรือไม่
10.พิจารณาว่า ภาระภาษีขององค์กรธุรกิจ แต่ละแบบเป็นอย่างไร แบบใดจะเสียภาษีต่ำที่สุด

การตัดสินใจจะเลือกองค์กรธุรกิจแบบใดในการประกอบธุรกิจนอกเหนือจากความรับผิดชอบแล้วต้องคำนึงถึงภาระภาษีและความเป็นไปได้ทางธุรกิจ